วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

การตรวจสอบระบบบริการและอำนวยความสะดวกในอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร

บทคัดย่อ
ระบบบริการและอำนวยความสะดวกในอาคารเป็นระบบที่มีความจำเป็นต่อการใช้งานอาคาร นอกจาก การออกแบบ การติดตั้ง และการดูแลรักษา ระบบดังกล่าวอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้ว การตรวจสอบสภาพเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญซึ่งควรดำเนินการอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ
คำสำคัญ
การตรวจสอบความปลอดภัย, ระบบบริการ, ระบบอำนวยความสะดวก
1. บทนำ
ตามความในมาตรา 32 ทวิ ของพระราชบัญญัติควบคุมอาคารได้กำหนดให้อาคารประเภทต่างๆ ที่เข้าข่ายการตรวจสอบ ต้องทำการตรวจสอบสภาพเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน โดยในการตรวจสอบนี้ ระบบบริการและอำนวยความสะดวกในอาคารเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องได้รับการตรวจสอบ บทความฉบับนี้นำเสนอรายละเอียดในการตรวจสอบระบบบริการและอำนวยความสะดวกในอาคารซึ่งประกอบด้วย การตรวจสอบระบบลิฟต์ การตรวจสอบระบบบันไดเลื่อน การตรวจสอบระบบไฟฟ้า และการตรวจสอบระบบปรับอากาศ โดยมีรายละเอียดดังนี้
2. การตรวจสอบระบบลิฟต์
2.1 ส่วนห้องเครื่องลิฟต์

ตรวจสอบทางเข้าสะอาด ไม่มีสิ่งกีดขวาง สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกและปลอดภัย, ประตูห้องสามารถล๊อกได้และมีป้ายเตือนห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้า, มีการระบายอากาศภายในห้องอย่างเพียงพอ, มีระบบแสงสว่างที่เพียงพอต่อการทำงาน, ช่องเปิดที่พื้นภายในห้องมีฝาปิดที่แข็งแรงทุกช่อง, ภายในห้องสะอาดเรียบร้อยไม่มีวัสดุหรืออุปกรณ์อื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้อง, มีถังดับเพลิงหรืออุปกรณ์ดับเพลิงที่เหมาะสมและเพียงพอ ติดตั้งในจุดที่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย, สวิทช์เมนหรือตู้ควบคุมหลักสามารถเข้าถึงได้ง่าย
2.2 ส่วนโถงลิฟต์
ตรวจสอบภายในโถงลิฟต์สะอาดไม่มีวัสดุหรืออุปกรณ์อื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้อง, มีแสงสว่างอย่างเพียงพอในการทำงาน, จุดยึดน้ำหนักถ่วงมีความมั่นคงแข็งแรงและไม่เป็นสนิม, รางบังคับมีความมั่นคงแข็งแรง ไม่มีวัสดุกีดขวางในราง, ประตูหน้าโถงลิฟต์ทุกชั้นปิดสนิท, ทดสอบการทำงานของวงจรนิรภัยของประตูหน้าโถงลิฟต์ทุกชั้น

รูปที่ 1 แสดงส่วนประกอบระบบลิฟต์
2.3 ส่วนตัวลิฟต์
ตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ป้องกันประตูหนีบผู้ใช้ลิฟต์, การระบายอากาศในลิฟต์มีอย่างเพียงพอ, แสงสว่างในลิฟต์มีอย่างเพียงพอ, ทดสอบการทำงานของอุปกรณ์สื่อสารต่างๆในตัวลิฟต์, วัสดุตกแต่งต่างๆในตัวลิฟต์มีความมั่นคงแข็งแรง, มีป้ายหรือข้อความแนะนำการใช้ลิฟต์ทั้งในสภาวะปกติและในสภาวะฉุกเฉิน, มีบันทึกการบำรุงรักษาลิฟต์, ไม่มีเสียงดังหรือการสั่นสะเทือนขณะลิฟต์ทำงาน
3. การตรวจสอบระบบบันไดเลื่อน
ตรวจสอบแผ่นพื้นทางเดินเข้าและออกมีความราบเรียบและยึดแน่นไม่โก่งงอ, ไม่มีสิ่งกีดขวางทางเดินเข้าออก, ระยะเหนือชั้นบันไดเลื่อนมีเพียงพอและปลอดภัย, มีป้ายหรือข้อความแสดงวิธีการใช้งานที่ถูกต้องหรือข้อห้ามในการใช้งาน, สภาพของราวจับสมบรูณ์ไม่ฉีกขาดและเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่ากับบันไดเลื่อน, บันไดเลื่อนเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่เหมาะสม ไม่เร็วจนเกินไป, ทดสอบการหยุดในสภาวะฉุกเฉินและระยะการหยุดเหมาะสม, ไม่มีเสียงหรือการสั่นสะเทือนขณะทำงาน

รูปที่ 2 แสดงส่วนประกอบระบบบันไดเลื่อน
4. การตรวจสอบระบบไฟฟ้า
4.1 ส่วนสายไฟฟ้าแรงสูงเดินอากาศ

ตรวจสอบสภาพเสามีความแข็งแรง ไม่เอนหรือหักงอ, สภาพอุปกรณ์ประกอบหัวเสาไม่มีการแตกร้าวหรือบิ่น, สายไฟฟ้าอยู่ในสภาพที่สมบรูณ์และระยะหย่อนของสายไม่มากจนเกินไป, ระยะห่างระหว่างสายกับสิ่งปลูกสร้างหรือต้นไม้เป็นไปตามมาตรฐาน, การติดตั้งล่อฟ้าและหลักดินอยู่ในสภาพที่สมบรูณ์, ความต้านทานหลักดินไม่เกิน 5 โอห์ม, อุณหภูมิของจุดต่อสายต่างๆไม่สูงหรือมีความแตกต่างกันมากเกินไป
4.2 ส่วนสายไฟฟ้าแรงสูงเดินใต้ดิน
ตรวจสอบสภาพในส่วนที่มองเห็นมั่นคงแข็งแรงไม่มีการทรุดตัวหรือมีน้ำขัง, ความตึงของสายไฟฟ้าช่วงเข้าออกไม่ตึงเกินไป, อุณหภูมิของจุดต่อสายไฟฟ้าต่างๆไม่สูงหรือมีความแตกต่างกันมากเกินไป, กับดักล่อฟ้าและการต่อลงดินอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์, ความต้านทานหลักดินไม่เกิน 5 โอห์ม
4.3 ส่วนห้องหม้อแปลงหรือลานหม้อแปลง
ตรวจสอบระยะห่างระหว่างหม้อแปลงกับรั้วหรือผนังห้องเป็นไปตามมาตรฐาน, ความสูงของรั้วไม่น้อยกว่า 2 เมตร, ประตูห้องหรือลานหม้อแปลงสามารถล๊อกได้และมีป้ายเตือน, มีการต่อลงดินหรือการต่อฝากของอุปกรณ์ประกอบที่นำไฟฟ้าเช่น ประตู รั้ว ตู้ควบคุม และอุปกรณ์อื่นในห้องหรือลานหม้อแปลง, มีถังดับเพลิงหรืออุปกรณ์ดับเพลิงที่เหมาะสมและเพียงพอ ติดตั้งในจุดที่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย, ภายในลานหม้อแปลงหรือห้องห้องหม้อแปลงสะอาดไม่มีวัสดุหรืออุปกรณ์ที่ไม่เกี่ยวข้อง, มีบ่อพักน้ำมันที่สามารถรองรับน้ำมันรั่วได้อย่างเพียงพอ, มีการระบายอากาศที่ดีและอุณหภูมิไม่สูงเกินไป

รูปที่ 3 แสดงลานหม้อแปลง
4.4 ส่วนหม้อแปลงไฟฟ้า
ตรวจสอบอุณหภูมิและความชื้นของหม้อแปลงไม่เกินค่าที่กำหนด, ไม่มีการรั่วซึมของน้ำมันหม้อแปลง, บูชชิ่งทั้งด้านแรงสูงและแรงต่ำไม่แตกร้าวหรือบิ่น, กับดักฟ้าฝ่าและการต่อลงดินมีสภาพสมบูรณ์, มีการต่อลงดินที่ตัวถังหม้อแปลง, ความต้านทานหลักดินไม่เกิน 5 โอห์ม, อุณหภูมิของจุดต่อสายเข้าออกไม่สูงหรือมีความแตกต่างกันมากเกินไป, ทดสอบการทำงานของพัดลมระบายอากาศ

รูปที่ 4 แสดงหม้อแปลงไฟฟ้า
4.5 ส่วนสายไฟฟ้าแรงต่ำ
ตรวจสอบท่อเดินสายหรือรางเดินสาย จับยึดแข็งแรงและไม่เป็นสนิม, สภาพสายไฟฟ้าในส่วนที่มองเห็นไม่มีการฉีกขาดหรือแตกร้าวของฉนวน, การจับยึดสายไฟฟ้าในอุปกรณ์เดินสายแข็งแรง และแบ่งกลุ่มป้องกันสนามแม่เหล็กไฟฟ้าถูกต้อง, สายไฟฟ้าในช่วงเข้าออกอุปกรณ์ต่างๆไม่ตึงเกินไป, อุปกรณ์เดินสายและอุปกรณ์ประกอบวงจรที่เป็นตัวนำไฟฟ้ามีการต่อลงดินหรือต่อฝาก, ไม่เดินสายไฟฟ้าร่วมกับท่อน้ำ, อุณหภูมิของสายและจุดต่อสายไม่สูงหรือมีความแตกต่างกันมากเกินไป

รูปที่ 5 แสดงการจัดกลุ่มสายที่ถูกต้อง
4.6 ส่วนตู้หรือแผงควบคุมไฟฟ้า
ตรวจสอบสภาพตู้หรือแผงควบคุมไฟฟ้ามีความแข็งแรงและไม่เป็นสนิม, มีพื้นที่ว่างรอบตู้หรือหน้าแผงควบคุมไฟฟ้าที่เพียงพอต่อการทำงาน, มีป้ายชื่อและแผนภาพวงจรไฟฟ้าที่ตู้หรือแผงควบคุมไฟฟ้า, ภายในและภายนอกตู้หรือแผงควบคุมมีความสะอาดไม่มีอุปกรณ์ที่ไม่เกี่ยวข้อง, มีระบบแสงสว่างอย่างเพียงพอต่อการทำงาน, ตู้หรือแผงควบคุมในส่วนที่นำไฟฟ้ามีการต่อลงดินหรือต่อฝาก, ความต้านทานหลักดินไม่เกิน 5 โอห์ม, มีถังดับเพลิงหรืออุปกรณ์ดับเพลิงที่เหมาะสมและเพียงพอ ติดตั้งในจุดที่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย, กรณีเป็นตู้เมนไฟฟ้าหลักต้องมีการต่อถึงกันของสายดินและสายนิวทรัล

รูปที่ 6 แสดงส่วนประกอบระบบไฟฟ้า
5.การตรวจสอบระบบปรับอากาศ
5.1 ส่วนห้องเครื่องทำน้ำเย็น

ตรวจสอบสภาพห้องสะอาดไม่มีน้ำเจิ่งนอง, อุณหภูมิภายในห้องไม่สูงเกินไป, มีระบบแสงสว่างที่เพียงพอต่อการทำงาน, มีระบบระบายอากาศกรณีมีสารทำความเย็นรั่วไหล, ฉนวนกันความเย็นอยู่ในสภาพดีไม่ฉีกขาด, สภาพการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆมั่นคงแข็งแรง, มีถังดับเพลิงหรืออุปกรณ์ดับเพลิงที่เหมาะสมและเพียงพอ ติดตั้งในจุดที่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย
5.2 ส่วนหอผึ่งน้ำ
ตรวจสอบสภาพการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆมั่นคงแข็งแรง, ไม่มีช่องนำอากาศเข้าในอาคารในรัศมีน้อยกว่า 10 เมตร, มีการติดตั้งและใช้งานระบบเติมสารเคมีเพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำ, ไม่มีการฟุ้งกระจายของละอองน้ำในบริเวณโดยรอบ
5.3 ส่วนห้องเครื่องส่งลมเย็น
ตรวจสอบสภาพห้องสะอาดไม่มีน้ำเจิ่งนอง, ไม่มีวัสดุหรืออุปกรณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องในห้อง, ช่องเติมอากาศไม่ถูกปิดหรือมีวัสดุบังลม, ช่องเติมอากาศห่างจากช่องทิ้งอากาศอย่างน้อย 5 เมตร, ช่องเดินท่อผ่านพื้นถูกปิดสนิทป้องกันไฟลาม, แผ่นกรองอากาศสะอาดและติดตั้งเหมาะสม, ไม่มีน้ำขังหรือตะกอนในถาดน้ำทิ้ง, ฉนวนกันความเย็นอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่ฉีกขาด
5.4 ส่วนท่อส่งลมเย็น
ตรวจสอบวัสดุที่ใช้ทำท่อและฉนวนเป็นวัสดุที่ไม่ติดไฟ, กรณีท่อเดินผนังกันไฟต้องมีลิ้นกันไฟ, การติดตั้งและจับยึดท่อมั่นคงแข็งแรง, ฉนวนความเย็นอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่มีการฉีกขาด, ไม่มีน้ำหยดหรืออับชื้นบริเวณท่อและฝ้าเพดาน, ไม่มีเชื้อราหรือฝุ่นบริเวณหัวจ่ายลมเย็น

รูปที่ 7 แสดงส่วนประกอบระบบปรับอากาศ
6. สรุป
การตรวจสอบสภาพเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานของระบบบริการและอำนวยความสะดวกในอาคาร ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร มีเจตนารมณ์เพื่อให้ผู้ใช้อาคารสามารถใช้งานระบบดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ถึงแม้ว่าระบบดังกล่าวจะถูกออกแบบ ติดตั้ง และดูแลรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้ว แต่หากไม่ได้ตรวจสอบสภาพเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถทำให้ไม่เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานได้
เอกสารอ้างอิง
[1] คณะกรรมการวิชาการสาขาวิศวกรรมเครื่องกล สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, 2549. มาตรฐานระบบเครื่องกลขนส่งในอาคาร. พิมพ์ครั้งที่ 1.
[2] คณะกรรมการวิชาการสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, 2545. มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย พ.ศ.2545. พิมพ์ครั้งที่ 1.
ประวัติผู้เขียน
นายปรีชา มงคลสาคร นักศึกษาสาขาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรมคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง